parallax background

‘Gamification’ เปลี่ยนเกมเป็นกลยุทธ์ ปลุกความอยากซื้อสินค้า

 

หลายคนคงคุ้ยเคยกับการเล่น Game กันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคำว่า Gamification น่าจะยังมีหลายท่านที่รู้สึกไม่คุ้นหูสักเท่าไร

 

Gamification คืออะไร?

ถ้าให้พูดตามที่มีคนให้นิยามเอาไว้ Gamification ก็คือ “การนำเอาการวางแผน กระบวนการ หรือระบบที่มาจาก Game มาประยุกต์ใช้กับสิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากเกม” 

พูดแค่นี้ บางท่านอาจยังไม่เห็นภาพหรือนึกภาพตามไม่ออก ดังนั้นจึงจะขออนุญาตเจาะลึกถึงที่มาของคำ ๆ นี้กัน โดย Gamification เกิดจากการรวมกันของคำว่า “Game” กับ “ification” หรือ “-ify” ซึ่งแยกความหมายของแต่ละคำได้ดังนี้

Game

คำนี้หลายคนคงคุ้นกันดี โดย Game หมายถึง สิ่งที่เราเล่นหรือเข้าร่วมเพื่อความสนุก หรือตามที่ The Grasshopper: Games, Life and Utopia ของ Bernard Suits ให้ความหมายไว้ว่า “Playing a game is a voluntary attempt to overcome unnecessary obstacles” ซึ่งแปลคร่าว ๆ ได้ว่า “การเล่นเกมคือการที่เราเต็มใจที่จะเอาชนะอุปสรรคที่ไม่มีความจำเป็น” โดยคีย์หลักของการเล่นเกมคือ “ความสนุก” และ “ความเต็มใจ”

ifcation หรือ (-ify)

การที่เราเติม -ify ลงไปหลังคำกิริยาใดๆนั้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า เรากำลังใช้คำกิริยานั้น ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งหรือบางคนไปในทางนั้น ๆ เช่น Water can be purified by boiling for five minutes. จะเห็นได้ว่ามีการเติม -ify ลงไปหลังคำว่า Pure เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราใช้การ Pure + ify เพื่อทำการเปลี่ยนแปลง Water หรืออาจจะสรุปได้คร่าวๆ คือการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง

หากเรานำสองของนี้มาสรุปโดยรวมจากหลักการจากทั้งสองคำ เราอาจจะสรุปได้อีกความหมายจากที่คนนิยามเอาไว้ในข้างต้นว่าว่า คือการนำคีย์หลักของเกมคือนำ “ความสนุก” และ “ความเต็มใจ” มาจูงใจให้เกิดเปลี่ยนแปลงการกระทำ พฤติกรรม หรือก้าวข้ามอุปสรรคได้

 

การประยุกต์ใช้ Gamification

เราจะนำ Gamification ไปใช้กับอะไรได้บ้าง?ในเชิงธุรกิจเราอาจใช้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ หรือแรงจูงใจในการซื้อสินค้าเพิ่มเติม เช่น การมอบคะแนนเมื่อมีการให้รีวิว มอบส่วนลดทุกครั้งที่การตอบแบบสอบถาม หรือ การมอบรางวัลเมื่อมีการเข้าแอปพลิเคชั่นติดต่อกันทุกวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากการสร้างแรงจูงใจ (Motivation) เพื่อให้เกิดการกระทำ (Action) และมอบรางวัล (Feedback) เพื่อที่จะให้เขากลับมาทำซ้ำ

 

 

บางท่านเห็นแล้วอาจคิดว่า แบบนี้ก็ไม่ต่างจากหลักการที่เรียกว่า “Feedback Loop” ของ Marketing เลยสิ?

คำตอบก็คือ “ต่าง” โดยสิ่งที่ทำให้ Gamification มีความแตกต่างออกไป คือ การสอดแทรก ความสนุก ความน่าสนใจ ที่ได้มาจากหลักการของเกม

แล้วจุดไหนละที่เราจะสอดแทรก Gamification ลงไป?

ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ ผมขออนุญาตนำเสนอ หลักการเบื้องต้นของ Gamification ก่อน โดยผมจะหยิบมาสองตัว คือ

  1. PBL (Point, Badge, Leaderboard) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของ Gamification
  2. องค์ประกอบย่อย เช่น Goals (เป้าหมาย), Progress (ความคืบหน้า), Learning (การเรียนรู้), Challenging (ความท้าทาย), Track (การเก็บข้อมูล), Reward (รางวัล) และ Fun (ความสนุก)

 

Point

มาเริ่มกันที่ Point หรือคะแนน คือสิ่งที่ผู้เล่นจะได้รับเมื่อทำภารกิจใดภารกิจหนึ่งสำเร็จ

โดยในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่า Point มีไว้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกับผู้เล่นคนอื่น แต่จริง ๆ เราสามารถทำได้มากกว่านั้น เช่น การบ่งบอกว่าการกระทำใดนั้นดีมากหรือน้อย (Learning) ให้กับผู้เล่นได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การรีวิวสินค้า หากผู้รีวิวเขียนแค่ข้อความเราจะให้แต้มแค่เพียง 1 Point แต่ถ้าหากมีการ Upload รูปไปด้วย เราจะมอบ 5 Point สิ่งนี้ทำให้ผู้เล่นจะเกิดการเรียนรู้ (Learning) และเป็นการสร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้มีการกลับมารีวิวและ Upload รูปภาพในทุก ๆ ครั้งที่มีการรีวิว

นอกจากนี้เรายังสามารถ ใช้ Point ในการตั้งเป้าหมาย (Goals) ให้ผู้ใช้ทำตามเป้าหมายที่เราวางไว้ เช่น เมื่อสะสมครบ 500 Point จะสามารถแลกของรางวัลโปรโมชั่นได้

 

Badge

โดยทั่วไป Badge จะหมายถึงเหรียญตรา หรือ Achievement หรือถ้วยรางวัลที่ได้รับในเกม

แต่ Gamification ยังหมายถึง Feedback เพื่อเน้นว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรทำ (Goals & Learning) และยังแสดงว่ามีสิ่งไหนที่เคยทำสำเร็จไปแล้ว หรือยังไม่ทำ (Challenging & Progression) รวมทั้งสามารถใช้บ่งบอกถึงพฤติกรรมผู้ที่สะสม (Track) และใช้แสดงถึงความภูมิใจว่าได้ผ่านความท้าทายอะไรมาบ้าง (Progression & Fun)

นอกจาก Badge แบบปกติในข้างต้นแล้วยังมี Badge แบบอีกมากมายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบจุดประสงค์ที่ต่างกัน จะขอหยิบยกตัวอย่างมาเช่น Badge กำหนดเวลา ที่ต้องทำเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งการที่มี Badge นี้เพื่อให้เกิดความท้าทาย (Challenging & Fun) กระตุ้นให้ผู้เล่นนั้นรีบเข้ามาทำเป้าหมายที่เราตั้งขึ้น

ส่วนข้อแตกต่างระหว่าง Point กับ Badge คือ Point นั้นจะถูกสะสมไปได้เรื่องจากการกระทำหลายๆ แบบ แต่สำหรับ Badge นั้นจะต้องมี “ที่มา” เสมอว่า ผู้เล่นต้องไปทำสิ่งใดมาก่อนจึงจะได้รับ Badge นั้น (Challenging)

ตัวอย่างของการใช้ Badge ที่เห็นกันบ่อย ๆ ในชีวิตประวันของเรา เช่น  Top Fan ของ Facebook ที่จะเพจมอบให้กับผู้ที่มี Engagement กับเพจนั้นบ่อยๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนอกจากจะช่วยทำให้ผู้ใช้พยายามมี Engagement กับ Page มากยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นผู้ที่ไม่มี Badge เกิดแรงจูงใจในการมี Engagement เพื่อที่จะได้ Badge นั้นด้วย

หรือ Badge ของ Nike+ Run ที่จะมอบให้กับผู้ที่ทำเวลาเร็วที่สุดในการวิ่ง ของสถานที่นั้นๆ ก็อยู่ในข่ายเดียวกัน

 

Leaderboard (ตารางอันดับ)

นอกจากจะใช้เพื่อการแข่งขันว่าใครจะได้อยู่ที่ 1 (Challenging) แล้ว Leaderboard ยังใช้เพื่อการเปรียบเทียบว่า ตัวเราอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับคนอื่น เพื่อจะได้ตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเองได้ (Goals) เพราะบางคนอาจไม่ได้ต้องการที่จะเป็น 1 แต่เขาเพียงแค่ต้องการที่จะเอาชนะเพื่อนของเขา (Fun) หรือบางคนก็ต้องการแค่แข่งขันกับตัวเอง ด้วยการเอาชนะสถิติที่เคยทำไว้ (Challenging) เท่านั้น

นอกจากนี้ การนำ Leaderboard มาใช้ก็มีข้อต้องระวังอยู่เหมือนกัน เช่น หากผู้เล่นที่พึ่งเข้ามาใหม่แล้วพบว่าอันดับของเขาต่ำมาก เช่น อันดับที่ 20,000 อาจจะทำให้ขาดแรงจูงใจในการที่จะไต่อันดับขึ้นไป เพราะมันดูเป็นไปไม่ได้

วิธีแก้ คือ เราอาจต้องมีการจัด Tier หรือทำให้ Leaderboard มีหลายระดับ เพื่อช่วยทำให้ผู้เล่นยังรู้สึกว่า สามารถที่จะไต่ขึ้นไปยังอันดับได้เรื่อย ๆ

การ Reset Leaderboard ก็เป็นอีกแนวทางที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้เล่นกลับมาทำคะแนนเรื่อย ๆ ในทุกครั้งที่เกิดการ Reset และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่มีโอกาสในการไต่อันดับขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างของ Leaderboard ที่เราอาจจะเคยเจอ เช่น Nike Run Club ที่มีทั้งการจัด Leaderboard ใน Weekly Challenge ที่จะรีเซ็ทในทุกสัปดาห์ หรือการสร้าง Club หรือการจับกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อที่จะสร้าง Leaderboard ของตัวเองที่เปรียบเสมือนเป็นการสร้าง Teir ขึ้นมาระหว่างผู้ใช้งานกับเพื่อนๆของเขา และที่สำคัญยังมีการบันทึก การวิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดเพื่อให้สามารถ เอาชนะสถิติตัวเองได้

 

จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้ว ทั้ง P B L นั้นสามารถเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของ Feedback Loop ได้อาจจะมีต่างกันบ้างในส่วนขององค์ประกอบย่อยๆ เนื่องจาก Gamification นั้นไม่ใช่เป็นการสร้าง Feedback Loop ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการใช้องค์ประกอบ หรือเทคนิคจากเกม มาเพิ่มความความสนุกและน่าสนใจ และคอยมอบ Feedback เพื่อจูงใจให้เกิดการกระทำใดๆที่เคยอาจเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ หรือถูกมองข้ามในหลักการเดิมๆ หรือแม้แต่ทำให้รู้สึกอยากกลับมาทำต่อไปเรื่อยๆได้

สุดท้ายนี้ Gamification อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ใหม่มากแล้วในตอนนี้ อีกทั้งตัวอย่างที่นำเสนอมาเป็นเพียงแค่พื้นฐานเบื้องต้นของ Gamification เท่านั้น ยังมีหลักการอีกมากมายที่ยังไม่ได้พูดถึง สิ่งควรคำนึงคือ Gamification เป็นเพียง user experience ชนิดนึงการที่เราจะเพิ่ม experience ใหม่เข้าไประหว่างเรากับทาง user นั้น เราควรที่จะมั่นใจแล้วว่า สิ่งนี้นั้นเหมาะกับสิ่งที่เรากำลังทำ หรือตอบโจทย์กลุ่มลุกค้าปัจจุบันของเราหรือเปล่า แต่ถ้าหากมีส่วนใดที่สามารถนำไปตอบโจทย์ปัญหาของสิ่งที่กำลังพอเจอ หวังว่าบทความนี้จะจุดประกายและนำไปศึกษาต่อยอดให้สามารถนำหลักการของ Gamification มาใช้กับปัญหาที่ท่านเจอได้

 

Badge Unlocked

You finished the 1st Mission

 

Paramate Eiamboonsert

UX/UI Designer

Reference