parallax background

ไม่ได้จบสาย IT แต่อยากทำงานด้านนี้ต้องทำอย่างไร

ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเข้ามาทำงานทางด้าน IT โดยที่ตนเองไม่ได้เรียนจบมาทางด้านนี้โดยตรง เช่น เรียนจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ แต่ได้เข้ามาทำงานเป็น IT product owner อยู่ที่บริษัทผลิตและพัฒนา Software หรือจบมาจากคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันทำงานเป็น IT specialist ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

สาเหตุที่ทำให้คนหันมาทำงานในสาย IT มากยิ่งขึ้น อาจเป็นเพราะว่าสายงานนี้ให้โอกาสที่จะเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการคนมาทำงานในสาย IT เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการให้ค่าตอบแทนที่มากเมื่อเทียบกับสายอาชีพอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆต้องการหาพนักงานมาดูแลในส่วนนี้เพื่อคงความได้เปรียบทางการแข่งขันทางด้านธุรกิจ

 

10 อันดับค่าจ้างของตลาดแรงงานในปี 2564

 

ดังนั้นจึงเกิดคำถามที่ว่า “คนที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้าน IT จะสามารถเข้ามาทำงานในสายนี้ได้อย่างไร?”

ก่อนที่จะไปหาคำตอบกัน เรามาดูก่อนว่าตัวอย่างงานในสาย IT มีอะไรบ้าง เพราะงานในสายนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การทำงานของการพัฒนาระบบหรือการผลิตสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น แต่รวมไปถึงงานที่เกี่ยวกับข้องกับการบริหารจัดการทางด้าน IT และการวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจหรือการตลาดอีกด้วย ตัวอย่างเช่น

  • IT Product manager หรือผู้จัดการผลิตภัณฑ์ IT ผู้มีหน้าที่วางกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
  • IT Project manager หรือผู้จัดการโครงการ IT ผู้มีหน้าที่ในการบริหารโครงการให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดโดยมีงบประมาณอย่างจำกัด ซึ่งรวมไปถึงการการวางแผนการสื่อสารและแผนจัดการความเสี่ยง
  • Business analyst หรือนักวิเคราะห์ธุรกิจ ผู้มีหน้าที่วิเคราะห์ความต้องการหรือเงื่อนไขของลูกค้าในเชิงธุรกิจ เพื่อนำข้อมูลมาให้กับทางทีม Software developer โดยนักวิเคราะห์ควรมีความเข้าใจทั้งทางด้านธุรกิจและในเชิงเทคนิคเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

 

 

องค์ประกอบของการเป็น Product manager

จากตัวอย่างงานที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้ที่ทำงานในสาย IT บางตำแหน่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางเทคนิคอย่างลึกซึ้ง แต่ควรรู้จักวิธีการจัดการและการประยุกต์ใช้ระบบหรือเครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลาย ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้เพิ่มเติมจากหลากหลายวิธี เช่น

  • การเรียนคอร์สออนไลน์ – เป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะผู้เรียนสามารถเลือกสิ่งที่จะเรียนได้อย่างสะดวกสบายและหลากหลายบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Udemy, Coursera, LinkedIn Learning เป็นต้น ซึ่งคอร์สเหล่านี้มักมีราคาที่ไม่สูงและใช้เวลาไม่นานในการเรียน และเหมาะกับผู้ที่ต้องการศึกษา IT ในแขนงต่างๆ
  • การเข้าร่วม Bootcamp – เป็นการต่อยอดจากคอร์สออนไลน์ทั่วไป ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาหาความรู้ทางเทคนิคแบบเข้มข้น ซึ่งมักจะลงลึกไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ภาษาที่ใช้ในการทำ Coding ต่างๆ หรือด้าน Data Science เป็นต้น
  • On-the-job training – เป็นการเรียนรู้จากการทำงานจริง ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่เรามีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับผู้ที่ทำงานในสาย IT หรือตำแหน่งที่เราสนใจ เราสามารถที่จะเรียนรู้วิธีการหรือขั้นตอนการทำงานของคนกลุ่มนั้นได้
  • การฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง – เมื่อทำการเรียนรู้เพิ่มเติมแล้ว สิ่งที่สำคัญที่ควรทำต่อไปคือการฝึกฝนและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ความรู้ที่มีอยู่สามารถรองรับเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

นอกจากนี้การประยุกต์ความรู้ความสามารถที่มาจากสายงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้การเข้ามาทำงานในด้าน IT ได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น คนที่มาจากอาชีพ Graphic designer สามารถใช้ทักษะเดิมอย่าง Composition, Grid system หรือ Typography มาประยุกต์และต่อยอดในการทำงานเพื่อเป็น UI designer ในสาย IT ได้

แน่นอนว่าการเข้ามาทำงานในสายอาชีพที่เราไม่ได้เรียนมาหรือไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนอาจจะทำให้เราเกิดความกังวลใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่การเพิ่มพูนความรู้และฝึกฝนทักษะอยู่สม่ำเสมอ จะสร้างความมั่นใจให้เรามากยิ่งขึ้น และเสริมสร้างโอกาสที่จะทำให้เรามาทำงานในสาย IT ได้ในที่สุด

หากต้องการหาข้อมูลหรือความรู้เพิ่มเติมทางด้าน IT และเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ สามารถอ่านบทความที่น่าสนใจต่อได้ที่นี่

Pichrawee Promjai

Project Manager

 

Source: