ปัจจุบัน “การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล” (Data Privacy) ในรูปแบบต่าง ๆ ได้กลายเป็นปัญหาอันแหลมคมที่ถูกนำมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากกระแสโลกปัจจุบันที่ถูกยึดโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งต้องอาศัย “ข้อมูล” เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อน และข้อมูลส่วนบุคคลก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์ทั้ง “บนดิน” และ “ใต้ดิน” อย่างแพร่หลาย
นี่คือตัวอย่างการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในทุกซอกทุกมุมของโลกรวมถึงประเทศไทย และเป็นสาเหตุสำคัญของการผลักดันให้มีการบังคับใช้ “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งในส่วนของบ้านเรานั้น ขณะนี้ร่างกฎหมายกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดหมายกันว่า การพิจารณาน่าจะเสร็จสิ้นก่อนถึงกลางปีนี้
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตื่นตัวเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นความตื่นตัวเฉพาะในมุมของหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลกมากกว่าจะมาจากความตระหนักถึงปัญหาของประชาชนในฐานะ “เจ้าของ” ข้อมูลเอง
นั่นจึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า จริง ๆ แล้ว พวกเราคนไทยเคยรู้สึกบ้างหรือไม่ว่า “การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล” เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง? ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ น่าจะช่วยชี้เป็นชี้ตายให้กับปัญหา Data Privacy ในบ้านเราได้มากพอสมควร
ผลการสำรวจต่อไปนี้ น่าจะพอให้คำตอบกับเราในเรื่องนี้ได้พอสมควร และที่สำคัญยังอาจเป็นอุทธาหรณ์เพื่อย้ำเตือนให้เรากลับไปคิดทบทวนกันอีกครั้ง เกี่ยวกับการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง
เพราะในโลกที่แท้จริงนั้น พวกเราอาจกำลังเสี่ยงต่อการถูกละเมิดข้อมูลมากกว่าที่คิดไว้มาก!
เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทย ซึ่งมีหลายประเด็นที่เชื่อมโยงกับมุมมอง ความคิด และพฤติกรรม เกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองบนโลกออนไลน์
เริ่มจากประเด็นแรก คือ คนไทยมีพฤติกรรมออนไลน์ที่ค่อนข้างหนักหน่วง คือ เฉลี่ยมากถึงวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที โดยกิจกรรมออนไลน์ยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ โซเชียลมีเดีย 93.64% รับส่งอีเมล 74.15% ค้นหาข้อมูล 70.75% ดูทีวีออนไลน์-ฟังเพลง 60.72% ซื้อสินค้าและบริการ 51.28%
โดยสิ่งที่ชาวเน็ตเมืองไทยมองเป็นปัญหากวนใจ 5 อันดับแรก คือ โฆษณาออนไลน์มากเกินไป 80.0%, ความล่าช้าของอินเตอร์เน็ตหรือ “เน็ตเต่า” 77.0%, ไม่มั่นใจว่าข้อมูลจริงหรือลวง 39.1%, เน็ตต่อยาก 31.3% และ อีเมลขยะ 31.0% ส่วนการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นปัญหากวนใจในลำดับท้าย ๆ คือ ลำดับ 11 ที่ 11.4%
นอกจากนี้ในบรรดากิจกรรมออนไลน์ทั้งหลายที่คนไทยเข้าไปใช้งานนั้น มีกิจกรรมจำนวนมากที่พวกเขา “สมัครใจ” ให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ให้บริการ ซึ่งแน่นอนว่าในบรรดากิจกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนหนึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่นกัน
ขณะที่เมื่อเจาะลึกไปที่พฤติกรรมการใช้งาน Social Media ซึ่งเป็นกิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตของคนไทย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ผลที่ออกมา แม้จะทำให้ใจชื้นขึ้นบ้างว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ 73.4% ยืนยันว่าเคยตั้งค่าข้อมูลส่วนตัวเป็น Privacy แต่ก็ยังมีผู้ใช้ถึงเกือบ 1 ใน 4 หรือประมาณ 24.4% ที่ยอมรับว่าไม่เคยตั้งค่าดังกล่าวเอาไว้ โดยในจำนวนนี้มีถึง 46.1% อ้างว่า เพราะเขามั่นใจว่ามีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมอยู่แล้ว ขณะที่ 31.0% ระบุว่า พวกเขาไม่รู้สึกกังวลที่มีข้อมูลส่วนตัวทางสังคมออนไลน์แต่อย่างใด
รายงานของ EDTA ชุดเดียวกันนี้ ยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” การถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจากกิจกรรมออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีมากน้อยแตกต่างกันไปตาม “เจนเนอร์เรชั่น” ดังนี้