ในบรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อ “การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล” หรือปัญหา Data Privacy ไม่ได้มีเพียงแค่เราท่านที่ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งผูกติดอยู่กับโลกดิจิทัลเท่านั้นที่เป็น “กลุ่มเสี่ยง”
แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่เด็กทารกที่เพิ่งเกิดมาและลืมตาดูโลกก็ตกเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ด้วยเช่นกัน
ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยรู้จักอินเตอร์เน็ตเลยด้วยซ้ำ
ที่สำคัญ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็เป็นความเสี่ยงจากอาชญากรรมขั้นรายแรง โดยมีตัวการสำคัญ คือ พวกเราที่เป็น “ผู้ปกครอง” ของเด็กเหล่านั้นนั่นเอง
จากผลการสำรวจโดย Children’s Commissioner’s Office (CCO) ของอังกฤษ ระบุว่า ปัจจุบันมีข้อมูลของเด็กถูกปล่อยออกสู่โลกภายนอกแทบจะตั้งแต่นาทีแรกที่พวกเขาเกิด และกว่าเด็ก ๆ จะโตขึ้น ปรากฏว่าทั้งภาพและคลิปของพวกเขาเหล่านั้นถูกอัพโหลดขึ้นไปแล้วเฉลี่ยมากถึง1,300 ภาพซึ่งเป็น “ช่องโหว่”สำคัญที่ทำให้เกิดการละเมิดข้อมูลหรือนำมาซึ่งอาชญากรรมที่ร้ายแรงจาก “มือที่สาม” ได้
อย่าเป็น“พ่อ–แม่รังแกฉัน”โดยไม่ตั้งใจ
CCO ย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้เปรียบเสมือนกับ “บิ๊กดาต้า” ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเด็ก ๆ ซึ่งหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ระมัดระวังในการโพสต์ภาพและเรื่องราวขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ต สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นมันอาจกลายเป็นการทำร้ายลูกหลานของเราได้ โดยเฉพาะผลร้ายจากการถูกขโมยตัวตน ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็เกิดความเสียหายไปแล้วเรียบร้อย
ทั้งนี้จากการศึกษาเกี่ยวกับการฉ้อโกงอัตลักษณ์ของเด็ก โดย Javelin Strategy & Researchพบว่า ปี 2017 ที่ผ่านมา มีเด็กถูกขโมยตัวตนไปเพียงปีเดียวมากกว่าหนึ่งล้านราย และสร้างความเสียหายตามมาถึงกว่า 2.67 ล้านเหรียญสหรัฐ
เปิดข้อมูลลูก= เปิดกระเป๋าเงินให้โจร
รายงานดังกล่าว สอดคล้องกับการออกมาประกาศเตือนของธนาคารBarclaysในอังกฤษ ที่ระบุว่า ข้อมูลที่พ่อแม่ส่งขึ้นไปแชร์บนโซเชียลมีเดีย เท่ากับเป็นการเปิดเผย “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของเด็กโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็น “จุดอ่อน” ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการขโมยตัวตนและการฉ้อโกงออนไลน์ได้ในอนาคต
“ปัจจุบันโซเชียลมีเดียทำให้การฉ้อโกงทางออนไลน์ง่ายขึ้น ซึ่งการที่พ่อแม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากของเด็ก ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องโหว่ความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินของเด็ก ๆ ในอนาคตนั่นเอง”
Barclays ยังคาดว่า ภายในปี 2030 หรือสิบกว่าปีข้างหน้า อาชญากรรมเกี่ยวกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ในอังกฤษจะเพิ่มมากขึ้น และอาจมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 670 ล้านปอนด์
ยิ่งโพสต์มาก คนร้ายยิ่งตามรอยได้มาก
ธนาคารยังเตือนด้วยว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก ไม่ว่า ชื่อ อายุ วันเกิด ที่อยู่ หรืออื่น ๆ สามารถเสาะหาได้ไม่ยากจากข้อความที่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องโพสต์ในวาระต่าง ๆ เช่น การอวยพรวันเกิด การเช็คอินโรงเรียน การแท็กชื่อพี่เลี้ยง สัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่กีฬาที่โปรดปราน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการทิ้งร่องรอยและข้อมูลเอาไว้ให้ “บุคคลที่สาม” ซึ่งรวมถึงผู้ไม่หวังดี สามารถเข้ามาสืบค้นได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีไปแล้วก็ตาม
“ข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลที่หาได้เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น ซึ่งนำไปสู่ขโมยตัวตนเพื่อก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางการเงิน บัตรเครดิต และการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ได้”
..และแน่นอนว่า ยิ่งโพสต์ข้อมูลอย่างไม่ระมัดระวังมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการทิ้งร่องรอยเพื่อช่วยคนร้ายทำงานได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน ..
กลเกมการตลาด อีกรูปแบบการละเมิด
นอกจากการละเมิดข้อมูลเพื่อขโมยตัวตนในการก่ออาชญากรรมแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหามากไม่แพ้กัน นั่นคือ การแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือเพื่อการตลาด โดยมีการจัดเก็บหรือนำข้อมูลไปใช้โดยมิชอบผ่านแอปพลิเคชันหรือเกมต่าง ๆ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับของผู้ใหญ่ และมักเริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กที่เริ่มโตสามารถเล่นเกม-โหลดเกมได้เอง
โดยที่ผ่านมาเกิดกรณีตัวอย่างการฟ้องร้องมาแล้วหลายกรณีในหลายประเทศ เช่น กรณีตัวแทนผู้บริโภคฟ้องในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐ รวมตัวกันฟ้องร้องยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิงสำหรับเด็กของโลกอย่าง“Walt Disney”และบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อีก 3แห่ง โดยกล่าวหาว่ามีการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กผ่านแอปพลิเคชันและเกมในโทรศัพท์มือถือจำนวน42 แอป เพื่อส่งข้อมูลทำแคมเปญโฆษณาโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง
แม้ถูกกล่าวหาจะพากันออกมาปฏิเสธ แต่สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือ .. ในบรรดาแอปพลิเคชันและเกมสำหรับเด็กที่มีอยู่ในตลาดนับแสนนับล้านเกมขณะนี้
.. จะมีบริษัทไหนกำลัง “เล่นนอกเกม” อยู่บ้างหรือไม่?..
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนโพสต์ข้อมูลลูกหลาน
ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกหลาน พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงเราท่านทุกคนอาจต้องคิดและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นก่อนจะแชร์ข้อมูลของเด็ก ๆ ขึ้นไปบนโซเชียลมีเดีย โดยอย่างน้อยต้องคิดถึงสิ่งต่อไปนี้
- ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของลูก: โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อจริง นามสกุล วันเดือนปีเกิด จะต้องงดหรือถูกนำไปเผยให้น้อยที่สุด
- ปิดโหมด Public: ตั้งค่าโพสต์ให้เห็นเฉพาะกลุ่มในครอบครัว หรือบุคคลที่กำหนด โดยห้ามตั้งค่าเป็น “Public” อย่างเด็ดขาด
- งดโชว์ Location: ปิดการแสดงโหมด Locationรวมทั้งควรงดการเช็คอินสถานที่ใด ๆไม่ว่า บ้าน โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว ในการโพสต์รูปหรือข้อความ เพื่อรักษาความลับเกี่ยวกับประวัติสถานที่อยู่ของลูก
- ภาพ–ข้อความต้องเหมาะสม: อย่าโพสต์ภาพขณะเด็ก ๆ ไม่ใส่เสื้อผ้า เพราะอาจถูกนำไปใช้ในทางอนาจารหรือการล่อลวงอื่น ๆ ได้ เช่นเดียวกับข้อความบรรยายที่ต้องเขียนอย่างเหมาะสมเช่นกัน
- ไม่มีความลับบนโลกออนไลน์: คิดเสมอว่า“โซเชียลมีเดีย”เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ทุกสิ่งที่โพสต์ไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ และที่สำคัญมันจะคงอยู่ตลอดไปไม่ว่าผ่านไปกี่สิบปี
การแชร์ภาพและเรื่องราวของลูกแม้จะไม่ต่างไปจากการส่งข่าวสารของเด็กให้คนอื่นๆ ได้ร่วมกันชื่นชม และเป็นการสะท้อนถึงความรักที่เรามีต่อลูกหลาน ซึ่งเป็นธรรมชาติของพ่อแม่ทุกคน และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
แต่ในโลกออนไลน์ที่มีทั้งคนดีและคนดีปะปนกันอยู่มากมาย โดยที่เราอาจจะไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขามาก่อน บางครั้งการแสดงความรักของเรา ก็อาจกลายเป็นดาบสองคมให้คนเข้ามาฉกฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งได้
ดังนั้นสิงที่พ่อแม่ทุกคนควรกระทำก็คือ ต้องไม่ให้ความรักของเรากลายเป็นสาเหตุทำให้ลูกเราถูกรังแกจากคนที่ไม่ดีอย่างเด็ดขาด
.. นี่ก็คือการแสดงความรักอีกวิธีหนึ่ง .. ใช่หรือไม่?
อ้างอิง