parallax background

เวลาไม่รอใคร! สัญญาณเตือน ‘แบรนด์’ เร่งปรับตัวรับ ‘Mobile-Only’

มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ Social Network ในสหรัฐจะเปลี่ยนไปเป็น “Mobile-Only” ภายในปีนี้

นี่เป็นรายงานผลการสำรวจชิ้นล่าสุดที่ eMarketer.com เพิ่งนำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนในสหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าภายในปีนี้ ผู้ใช้งานเกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 51.7% จะเป็นการใช้งานแบบ Mobile-Only” หรือใช้งานโดยผ่านอุปกรณ์ Mobile Device เช่น สมาร์ทโฟน ไอแพด และแท็บเล็ต เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

รายงานระบุด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มชาวอเมริกันที่ใช้เครื่อง Desktop และ Laptop จะมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 232.8 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบนเครื่อง Desktop และ Laptop ที่มีอยู่ประมาณ 228.9 ล้านคน ซึ่งนั่นทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้นถึง 10.6% หรือ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานรวมทั้งสิ้น 55.1 ล้านคน

ขณะเดียวกันยังคาดว่าผู้ใช้งาน Social Network ผ่านเครื่อง Desktop และ Laptop จะลดลงประมาณ 1.7 ล้านคนภายในปีนี้ (อ่านรายละเอียดที่: https://tinyurl.com/y6lrawe3)

แนวโน้มดังกล่าวยังสอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก รวมถึงย่านเอเชียแปซิฟิก อาเซียน และประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาร่วมกันระหว่าง Google และ Accenture Interactive  ก็พบข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า พฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของผู้บริโภคทั่วทั้งภูมิภาคเริ่มมีความโน้มเอียงเข้าสู่ความเป็น Mobile-First” หรือมีการใช้งานจากอุปกรณ์​ Mobile Device ก่อนเป็นอันดับแรก

โดย 60% มีการหาข้อมูลสินค้าผ่านระบบออนไลน์ล่วงหน้าโดยใช้สมาร์ทโฟน ขณะที่ 79% ของผู้บริโภคยังคงใช้โทรศัพท์ค้นหาข้อมูลออนไลน์ แม้จะอยู่ ณ จุดขายในร้านค้า และ 55% ของผู้บริโภคที่ซื้อของผ่านระบบออนไลน์ มีความโน้มเอียงที่จะซื้อผ่านสมาร์ทโฟน (อ่านรายละเอียดได้ที่: ‘3 วินาที’ ชี้ตาย Mobile Experience)

สัญญาณเตือนแบรนด์เร่งปรับตัว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการรุกคืบเข้ามามีอิทธิพลในโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ของอุปกรณ์ประเภท Mobile Device ต่าง ๆ และคาดว่าน่าจะยิ่งมากขึ้นไปกว่านี้อีกหลายเท่าตัว เมื่อคลื่นความถี่ในระบบ “5Gเปิดการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน นี่ยังเปรียบเสมือน “สัญญาณเตือน” ไปถึงแบรนด์ต่าง ๆ ที่ไม่เพียงแต่จะต้องลุกขึ้นมา “ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังรออยู่

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงของ “แพลตฟอร์ม” ต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ แต่ยังลามไปถึง “พฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของผู้บริโภค เช่น การเสพข้อมูลข่าวสารได้เร็วขึ้น บ่อยขึ้น เน้นเนื้อหาที่เป็นรูปภาพหรือคลิปวิดีโอมากกว่าตัวอักษร รวมทั้งมุ่งตอบสนองความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวพันโดยตรง“การสร้างประสบการณ์”หรือ Customer Experience ของธุรกิจทุกแบรนด์ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่แบรนด์จะต้อง“เข้าใจ”และ “ปรับตัว”ให้เท่าทันกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปดังกล่าวของผู้บริโภค เช่นในประเด็นดังต่อไปนี้

  • การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย, การพูดคุยสื่อสารผ่าน Application, การค้นหาข้อมูล, พฤติกรรมการซื้อขายและทำธุรกรรมในระบบออนไลน์ เพราะการใช้แพลตฟอร์มแต่ละอย่างของผู้บริโภค ล้วนมีเจตจำนงค์และการรับรู้ที่ต่างกัน ดังนั้นการศึกษาสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถปรับกลยุทธ์การทำตลาด รวมถึงกำหนดเนื้อหาและช่องทางการสื่อสาร ที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละคน ในแต่ละช่วงเวลา ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
  • การปรับการออกแบบเว็บไซต์ที่เอื้อต่อการใช้งานผ่าน Mobile Device โดยคำนึงถึง User Experience (UX),User Interface (UI) และรูปแบบเนื้อหา เนื่องจากอุปกรณ์ Mobile Device มีข้อจำกัดเรื่องขนาด ซึ่งส่งผลต่อมุมมองและการใช้งานของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเร็วในการโหลดข้อมูล เพราะหากผู้บริโภคต้องเสียเวลาในการโหลดมาก ก็อาจส่งผลให้การเข้าชมเว็บถูกยกเลิกได้ (อ่านรายละเอียดได้ที่: ‘3 วินาที’ ชี้ตาย Mobile Experience)
  • การวางแนวทางพัฒนาแอปพลิเคชันที่ “ดึงดูด” มากพอที่จะทำให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดไปใช้งาน รวมถึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าแอปของเรามีประโยชน์มากพอสำหรับพวกเขา เพื่อจูงใจให้เข้าเกิดความต้องการใช้งานตลอดเวลา
  • การปรับแพลตฟอร์มโฆษณา จะสังเกตเห็นว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้หันมาให้น้ำหนักกับการให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Mobile มากขึ้น เช่น กรณีของ Netflix ที่ทดสอบการให้บริการรูปแบบ Mobile-Only หรือแม้แต่การปรับตัวครั้งใหญ่ของ Facebook และโซเชียลมีเดียในเครือข่ายอย่าง Instagram, Messenger และ WhatsApp ซึ่งหลายส่วนมีไว้เพื่อรองรับการใช้งานและโฆษณาที่เอื้อต่อ Mobile Platform ดังนั้นแบรนด์จึงต้องหาทางใช้ประโยชน์จากแพลต์ฟอร์มแต่ละอย่างให้ได้มากที่สุด
  • สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การมี Content ที่มีความยืดหยุ่น ให้สามารถปรับใช้ได้ในหลายแพลตฟอร์ม เพราะภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน ผู้บริโภคอาจมีความสนใจ Content ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการมี Content ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและเหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์ม ก็จะทำให้การแบรนด์ทำงานได้คล่องตัวขึ้น

นี่ยังไม่นับรวมกับการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่จะสามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นเส้นทางการเดินทางของลูกค้า .. เมื่อใดที่เขาใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ เมื่อใดที่ต้องสื่อสารกับพวกเขา และจะต้องสื่อสารด้วยเนื้อหาแบบไหน ช่องทางใด หรือแม้แต่การคิดถึงกลยุทธ์ “Cross-Channel” ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถบูรณาการร่วมกับการทำการตลาดผ่าน Mobile Device ให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพ สามารถส่งสารได้อย่างถูกที่ และถูกเวลา