ในรอบหลายปีที่ผ่านมาประเด็น “Digital Transformation” ได้กลายมาเป็น Topic สำคัญที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยต่างหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น และเริ่มเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพขององค์กรขนาดใหญ่ หลายแห่ง
แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีอีกหลายคนและหลายองค์กรที่ยังไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องของ Digital Transformation และยังเข้าใจผิดว่า Digital Transformation เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจในแง่ “การตลาด” เท่านั้น แต่โดยข้อเท็จจริง Digital Transformation มีความหมายและคุณประโยชน์ที่กว้างไกลกว่านั้นมาก
ถ้าจะให้สรุปกันแบบกำปั้นทุบดิน “Digital Transformation” ก็ไม่ตางไปจาก “เครื่องมือ” ที่นำไปใช้ในการ “ผ่าตัด” องค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยี Digital มาปรับใช้ในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่ระดับฐานราก การวางเป้าหมายความเติบโตขององค์กร การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนธุรกิจ การผลิต การตลาด และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสื่อสารกับลูกค้า
สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ Digital Transformation จะถูกนำมาใช้ในการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน โดยผู้บริหารตั้งแต่ระดับสูงสุดจนและบุคลากรทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการปรับตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
นี่คือคำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอ เวลาพูดถึงการนำ “Digital Transformation” มาปรับกระบวนการทำงานขององค์กร ซึ่งคำตอบก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล และแทบจะมีบทเรียนให้เราได้เห็นแทบทุกเมื่อเชื่อวัน
ประการแรก เป็นเพราะโลกในยุคปัจจุบัน เป็นโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ถูกคิดคิดและพัฒนาขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งท่ามกลางการถาโถมเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เหล่านี้ หากองค์กรยังคงทำธุรกิจในรูปแบบเดิม หรือไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทันการก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี องค์กรเหล่านั้นอาจต้องกลายสภาพเป็นองค์กรที่ “ตกขบวน” และต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด
บทเรียนในเรื่องนี้ มีให้เห็นมาแล้วหลายต่อหลายกรณี เช่น ความล่มสลายขององค์กรสื่อจำนวนไม่น้อยทั่วโลก ความดุเดือดในการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกจากการเบียดแทรกเข้ามาของธุรกิจ e-Commerce หรือเว็บค้าขายออนไลน์ หรือแม้กระทั่งแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในธุรกิจรถแท็กซี่และรถรับจ้างทั่วโลก จากการเกิดขึ้นของ Grap และ Uber ที่เปิดกว้างให้กับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ กระทั่งได้รับความนิยมภายในเวลาชั่วข้ามคืน
ขณะที่เมื่อมองให้แคบเข้ามาเฉพาะในประเทศไทย ก็จะพบว่า มีองค์กรจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ของเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา เช่น กลุ่มธนาคารที่ต้องเร่งแปลงร่างเข้าสู่ยุค “ดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนา Mobile Banking เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้ถูกตีกรอบเฉพาะในกลุ่มธนาคารด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาแข่งขันการให้บริการ เช่น การรับ-จ่าย-โอนเงิน และซื้อสินค้าผ่านระบบกระเป๋าเงินออนไลน์ (Wallet) ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น
หรือแม้แต่กรณีการปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันในตลาด e-Commerce อย่างเต็มรูปแบบของ “กลุ่มเซ็นทรัล” โดยร่วมกับกลุ่มทุนของจีนเปิดเว็บช็อปปิ้งออนไลน์ “JD” อย่างเต็มรูปแบบ
สถานการณ์ขององค์กรธุรกิจทั่วโลกเวลานี้ จึงเทบไม่ต่างไปจากการยืนอยู่บนทางสองแพร่ง เพื่อตัดสินใจว่า จะยอม “เปลี่ยน” เพื่อท้าทายโอกาสในการต่อสู้ หรือยอมหยุดอยู่กับที่เพื่อรอให้คู่แข่งเร่งเครื่องแซงหน้าทิ้งเราไป