“บอริส วอยแทน” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายข้อมูลส่วนบุคคลสมาคมจีเอสเอ็ม (GSM Association: GSMA) ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมการสื่อสารเคลื่อนที่ทั่วโลก เปิดเผยว่า จากการสำรวจล่าสุดของ GSMAพบว่า การไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแกนมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ของโลกเติบโตขึ้นราว 10% และคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 91.62 ล้านล้านบาทของโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าตัวเลขของการค้าผลิตภัณฑ์ทั่วโลก โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมาจากธุรกิจความสามารถในการโอน จัดเก็บและประมวลผล เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการทำการค้า ธุรกิจด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานแพลตฟอร์มและบริการใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้จะมีพัฒนาที่ดีในเรื่องของการกำหนดกรอบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถปกป้องผู้บริโภคได้ดี แต่การส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดน ยังมีกฎหมายแต่ละประเทศกีดขวางการขยายตัวทางการค้า โดยการสำรวจพบว่า ประเทศในเอเชียแปซิฟิกควรสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการปล่อยข้อมูลส่งข้ามพรมแดนร่วมกัน เพื่อช่วยให้เกิดการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน เพราะมองว่าการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดขึ้นเองแต่ละประเทศ จะควบคุมการใช้ข้อมูลของประชากรในประเทศนั้นๆ จะตีกรอบจำกัดขีดความสามารถขององค์กรต่างๆ ในเอเชีย
“ปีหน้าไทยจะเป็นประธานอาเซียนต่อจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไทยควรนำวาระดังกล่าวหารือในระดับภูมิภาค เพราะการเปิดเสรีข้อมูลส่งข้ามพรมแดน ในอาเซียนยังไม่มีการกำหนดกรอบของแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน มีเพียงแต่กรอบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมองว่าการปล่อยข้อมูลข้ามแดนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขยายตัว อาทิ ไอโอที การใช้คลาวด์ การก้าวสู่ 5 จี องค์กรธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินงานที่น้อยกว่า”นายวอยแทน กล่าว
สำหรับงานวิจัยได้ประเมินกรอบและหลักการสำคัญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรการสำคัญของทุกประเทศ ได้แก่ 1.รัฐบาลประเทศสมาชิกเอเปกและอาเซียนควรร่วมกันปิดช่องว่างความแตกต่างข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ และเชื่อมโยงกรอบข้อกำหนดระดับภูมิภาค 2.ประเทศต่างๆ ควรพัฒนากฎหมายข้อบังคับส่วนบุคคลให้เป็นไปทางทิศทางเดียวกัน 3.ควรมีการกำหนดนโยบายในภาครัฐและผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลร่วมมือระดับภูมิภาค และ 4.รัฐบาลควรชี้แจงแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลทั้งภาคเอกชนและภาควิชาการถึงแนวทางปฏิบัติต่างๆ