หากเทียบขนาดของตลาดออนไลน์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศอาเซียน อาจเป็นกลุ่มประเทศเล็กๆ ที่ถูกยักษ์ใหญ่ตลาดออนไลน์ในเอเชียอย่าง “จีน” และ “อินเดีย” ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตรวมกันมากถึง 1.3 พันล้านราย (ข้อมูลจาก: World Economic Forum) บดบังรัศมีไปจนแทบจะหมดสิ้น
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ตลาดของอาเซียนของเราจะไร้ซึ่งความน่าสนใจ
ตรงกันข้าม อาจต้องถือว่า “อาเซียน” น่าจะเป็นขุมทองแห่งใหม่ ที่นักการตลาดจะละสายตาไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดเสียด้วยซ้ำ!!
“อาเซียน”ขุมทอง Digital Marketing
จากรายงานเรื่อง “e-Conomy SEA2018” ซึ่งเป็นโครงการการสำรวจและวิจัยร่วมกันระหว่าง Google และ “กองทุนเทมาเส็ก” ของสิงคโปร์ ได้คาดการณ์เกี่ยวกับ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ในภูมิภาคอาเซียน โดยชี้ว่า เฉพาะใน 6 ประเทศใหญ่ของภูมิภาค ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรวมกัน 350 ล้านราย ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ สังคมอินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นแบบ “Mobile-First” คือ การใช้งานอินเตอร์เน็ตมากกว่า 90% เป็นการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็น 4 ประเทศที่ติดอันดับ Top 10 ของประเทศ ที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก
e-Commerce ดันมูลค่าตลาดโต 7.99 ล้านล้าน
ผลการสำรวจยังชี้ด้วยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2018 มีมูลค่าสูงถึง 7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญ
ที่สำคัญ ยังคาดว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ยังสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 3 เท่าตัว หรือ มีมูลค่าสูงถึง 2.4 แสนล้านเหรียญ หรือกว่า 7.9 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
โดยธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดในตลาดดิจิทัลอาเซียนปี 2018 คือ ธุรกิจ Online Travel เช่น การจองโรงแรม-ที่พักผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านเหรียญ โดยมีธุรกิจ E-Commerce ตามหลังมาติดๆ ที่ 2.3 หมื่นล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปี 2025 ตำแหน่งดังกล่าวจะถูกสลับกัน โดยธุรกิจ Online Travel จะตกมาอยู่อันดับ 2 ด้วยมูลมูลค่า 7.8 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ E-Commerce จะก้าวกระโดดแซงขึ้นไปอยู่ในอันดับ 1 ด้วยมูลค่าที่คาดว่าจะสูงถึง 1.02 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
“ไทย” ถือส่วนแบ่ง 1.4 ล้านล้าน
ทั้งนี้เมื่อแยกย่อยเป็นรายประเทศ พบว่า ปี 2018 เศรษฐกิจดิจิทัลในอินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 49% จากมูลค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นจาก 8 พันล้านเหรียญ เมื่อปี 2015 เป็น 2.7 หมื่นล้านเหรียญในปี 2018 และคาดว่า จะเติบโตต่อไปได้ จนมีมูลค่าสูงถึงระดับ 1 แสนล้านเหรียญ ในปี 2025 โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก
ส่วนประเทศไทย แม้มูลค่าการตลาดในปี 2018 จะสูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย คือ 1.2 หมื่นล้านเหรียญ แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ยังถือว่าน้อยกว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่อยู่ระดับ 35% และ 30% ตามลำดับ โดยประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 27%
ขณะที่ในปี 2025 คาดว่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย จะอยู่ที่ประมาณ 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.4 ล้านล้านบาท ตามมาด้วย เวียดนาม 3.3 หมื่นล้านเหรียญ สิงคโปร์ 2.2 หมื่นล้านเหรียญ ส่วนมาเลเซียและฟิลิปปินส์ มีมูลค่าใกล้เคียงกันที่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านเหรียญ
เจาะ 4 Sectors ธุรกิจทำเงิน
การศึกษาและวิจัยครั้งนี้ ยังให้ความสำคัญกับ 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชี้ให้เห็นถึงนัยสำคัญของการเติบโตของธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2025 ดังนี้
e-Commerce
ธุรกิจ e-Commerce เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการเติบโตที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกปี ตั้งแต่ปี 2015 ที่มีมูลค่า 5.5 พันล้านเหรียญ เป็น 1.09 หมื่นล้านเหรียญในปี 2017 ก่อนขยับเป็น 2.3 หมื่นล้านเหรียญในปี 2018 และคาดว่า เมื่อถึงปี 2025 จะพุ่งไปแตะที่ ระดับ 1.02 แสนล้านเหรียญเลยทีเดียว
โดยเมื่อแยกเป็นรายประเทศ พบว่า ปี 2018 ธุรกิจ e-Commerce ในอินโดนีเซีย มีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งก้าวกระโดดจาก 1.7 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2015 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 94% และคาดว่าในปี 2025 ธุรกิจ e-Commerce ในอินโดนีเซียจะมีมูลค่าพุ่งสูงไปถึง5.3หมื่นล้านเหรียญ
อันดับ 2 ได้แก่ ประเทศไทย โดยปี 2018 มีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 49% จากมูลค่าประมาณ 900 ล้านเหรียญในปี 2015 ตามมาด้วยเวียดนามที่ในปี 2018 มีมูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญ แต่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึง 87% จากมูลค่าในปี 2015 ที่ประมาณ 400 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2025 คาดว่ามูลค่าตลาด e-Commerce ของเวียดนามจะแซงไทยขึ้นไปแตะที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านเหรียญ
Online Media
ธุรกิจในกลุ่ม Online Media มี Sector ย่อยอีก 3 Sectors คือ 1.Online Advertising 2.Online Gaming 3.Subscription Music&Video โดยปี 2018 ธุรกิจทั้ง 3 Sectors ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่ารวมกัน 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งธุรกิจที่ทำเงินมากที่สุด คือ Online Advertising 7.2 พันล้านเหรียญ, Online Gaming 3.8 พันล้านเหรียญ และ Subscription Music&Video ที่ประมาณ 400 ล้านเหรียญ
ขณะที่ปี 2025 คาดว่า ตลาดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปถึง 3.2 หมื่นล้านเหรียญ โดย Online Advertising ยังคงเป็นส่วนที่ทำเงินสูงสุดที่ประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ ตามมาด้วย Online Gaming ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญ และ Subscription Music&Video ที่ขยับมาอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญ
ขณะที่ อินโดนีเซีย, ไทย และเวียดนาม เป็น 3 ประเทศที่สร้างรายได้จาก Online Media ได้เกินกว่า 2 พันล้านเหรียญในปี 2018 และคาดว่า ในปี 2025 จะเพิ่มเป็น 8 พันล้านเหรียญ, 7 พันล้านเหรียญ และ 6 พันล้านเหรียญ ตามลำดับ
Online Travel
ตลาดท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นเพียงตลาดสำคัญของประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องถือให้เป็นตลาดสำคัญของแทบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปี 2018 ตลาด Online Travel จาก 3 Sectors คือ การจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และ Vacation Rental หรือ ที่พักที่เจ้าของเป็นผู้ปล่อยให้เช่าเอง จะสามารถทำเงินได้รวมกันถึงเกือบ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2025 จะทำเงินเพิ่มขึ้นได้อีกมากกว่าเท่าตัว คือ 7.8 หมื่นล้านบาท
โดยอินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด 3อันดับแรกของ Online Travel และคาดว่าในปี 2025 ตลาดในประเทศไทยจะทำเงินได้ถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ จากที่ทำได้ 6.1 พันล้านเหรียญในปีนี้
ความน่าสนใจอีกอย่างของคาดการณ์ฉบับนี้ คือ แนวโน้มตลาด “Vacation Rental” จะได้รับความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้น
Ride Hailing
รายงานฉบับนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจของธุรกิจให้บริการยานพาหนะผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ Ride-hailing ภายหลังจาก Grab ได้เข้าซื้อกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Uber เมื่อช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา โดยมีคู่แข่งรายสำคัญ คือ Go-Jek ที่มีการขยายตัวอย่างมากในอินโดนีเซีย ทำให้ตลาด Ride-hailing ในอาเซียนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านคนในปี 2015 เป็น 8 ล้านคนในปี 2018 และคาดว่าจะสามารถเติบโตไปได้จนถึง 35 ล้านราย
ส่วนตัวเลขรายได้ในปี 2018 อยู่ที่ 7.7 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่ 2.9 พันล้านเหรียญ และคาดว่าปี 2025 จะพุ่งทะลุไปถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญ
โดยความน่าสนใจอยู่ที่ เมื่อลงลึกไปพิจารณาที่มาของรายได้ของธุรกิจ Ride-hailing ซึ่งมาจาก 2 Sectors หลัก คือ การเรียกใช้บริการรถโดยสาร และการให้บริการส่งอาหาร พบว่า ในส่วนของการบริการส่งอาหารมีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่น่าสนใจมาก คือ จาก 400 ล้านเหรียญในปี 2015 เพิ่มเป็น 2 พันล้านเหรียญในปี 2018 และพุ่งไปแตะระดับ 8 พันล้านเหรียญในปี2025
ส่วนในประเทศไทย คาดว่า ในปี 2025 ภาพรวมของธุรกิจ Ride-hailingจะมีมูลค่า 4พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่มีมูลค่าประมาณ 700 ล้านเหรียญ ในปี 2018 เท่านั้น
ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแนวโน้มความเติบโตของตลาดออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำมาซึ่งคำถามสำคัญถึงองค์ธุรกิจและนักการตลาดว่า วันนี้เราได้วางแผนเตรียมพร้อมที่จะเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งจากขุมทรัพย์จำนวนมหาศาลก้อนนี้แล้วหรือยัง?
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ : https://tinyurl.com/ya55x2gl
ที่มา: Thinkwithgoogle.com