บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ได้เผยแพร่ “Top Strategic Predictions for 2019 and Beyond” ซึ่งเป็นการคาดการณ์แนวโน้มสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ อันเป็นผลพวงจากการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี 10ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
-
เกิดภาวะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ AI
โครงการเกี่ยวกับ AI ไม่ต่ำกว่า 80%จะยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยฝีมือคนที่มีทักษะความรู้สูงซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละองค์กร
Gartner ชี้ว่า ตลอดระยะ 5ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมและการพัฒนาเทคนิคความรู้ด้าน AI ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ มีการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างหลากหลาย ทำให้เกิดการกระจายตัวและการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ในการพัฒนาจะต้องใช้องค์ความรู้หลายแขนงเข้ามาเกี่ยวข้องรวมถึงด้านศิลปะ การรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ Skill Set ต่าง ๆ ให้มาทำงานร่วมกัน ภายใต้ระบบอัตโนมัติของ AI (AI-based automation) ก็จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในการขยายโครงการได้
-
การนำ AI มาช่วยติดตามคนหาย
ปี 2023บุคคลสูญหายจะลดลง 80%เมื่อเทียบกับปี 2018จากเทคโนโลยีระบุใบหน้า โดยอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การพัฒนาเทคโนโลยีจดจำใบหน้าของ AI (AI face recognition) จะมีการพัฒนาและมีความสามารถที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การใช้เวลาต่ำว่า 600 Microsecond ในการจับคู่และตรวจสอบใบหน้าของบุคคล ซึ่งสามารถนำมาช่วยในการติดตามหาเด็กและผู้สูงอายุที่สูญหายออกจากบ้านได้
-
Virtual care พัฒนาระบบดูแลสุขภาพ
การออกเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังของ U.S. Emergency Department จะลดลง 20ล้านครั้ง ภายในปี 2023จากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการในระบบAI Virtual Care
ทั้งนี้การนำระบบการดูแลสุขภาพแบบเสมือน (Virtual Health Care) นอกจากจะสามารถตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ยังช่วยลดงบประมาณและทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งเกิดประสิทธิภาพในการประสานงานการส่งต่อ และการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่า ระบบการติดตามการดูแลรักษาแบบเดิมที่ผู้ป่วยต้องมาพบกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
-
การแก้ปัญหา Cyberbullying เหลว
องค์กรประมาณ 25%จะกำหนดให้พนักงานต้องลงนามในข้อตกลง เพื่อป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งกันทางอินเตอร์เน็ต (Cyberbullying) แต่เชื่อหรือไม่ว่า 70%ของโครงการเหล่านี้จะล้มเหลว
Gartner ชี้ว่า ในอนาคตอันใกล้ สถานประกอบการต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับปัญหา Cyberbullying และเสริมสร้างจรรยาบรรณในที่ทำงาน โดยกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีแนวโน้มจะไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งชี้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ควรเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งฝึกอบรมพนักงานเพื่อตระหนักและมีการรายงานเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
-
Diversity ดันองค์กรบรรลุเป้าการเงิน
ภายในปี 2022, 75%ขององค์กรที่มีทีมงานที่มีความสามารถในการตัดสินใจ และมีวัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมภายใต้ความหลากหลายในองค์กร จะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินได้
ที่ผ่านมา แม้องค์กรต่าง ๆ จะเข้าใจดีถึงผลประโยชน์ในเรื่องความหลากหลาย แต่จากนี้ไปองค์กรจะให้ความสำคัญกับความหลากหลายที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ทั้งกระบวนการคิดและวิธีการทำงาน รวมทั้งมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมกันมากขึ้น ซึ่งการพัฒนานโยบายดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายธุรกิจและ HR
-
Privacy Poisoning ใน Blockchain
75%ของ Public Blockchain จะเผชิญกับปัญหา “Privacy Poisoning” มากขึ้นภายในปี2022โดยการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นไปเก็บไว้ใน Blockchain ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ แต่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรง เนื่องจาก Blockchainไม่มีการเปลี่ยนรูป ทำให้ไม่สามารถลบข้อมูลส่วนบุคคลออกไปได้ ดังนั้นในการพัฒนาโครงการที่มีการนำ Blockchain มาใช้ ควรมีการสร้างหลักการเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว รวมถึงวางแผนเรื่องการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบสถาปัตยกรรม
-
ข้อมูลส่วนบุลล ฉุดโฆษณาออนไลน์หด
ภายในปี 2023, การออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคจะแพร่หลายมากขึ้น ทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถติดตามข้อมูลผู้บริโภคผ่าน Cookies เพื่อยิงโฆษณาหรือแคมเปญการตลาดได้ยังผู้บริโภคได้โดยตรง ดังเช่นข้อกำหนด GDPR ของสหภาพยุโรป ที่ไม่อนุญาตให้ติดตามข้อมูลผู้บริโภคผ่านCookies หากไม่ได้รับความยินยอมจากแต่ละบุคคล กรณีดังกล่าวอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการลงโฆษณาในระบบออนไลน์มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และอาจทำให้ตลาดโฆษณาออนไลน์หดตัวลงได้เช่นกัน
-
Cloud ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ผลพวงจากการที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่เส้นทางการตลาดแบบดิจิทัล จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้นภายในปี 2022โดยปัจจัยสำคัญมาจากการนำระบบ Cloud มาให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการระดับต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาสินค้า ช่องทางการตลาด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถนำองค์ความรู้มาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
-
ยักษ์ Digital ยึดครองตลาดโลก
บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดดิจิทัลในปัจจุบัน จะยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อน โดยภายในปี 2022จะสามารถยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกได้ถึง 40%ขณะที่ในปี 2019ยักษ์ใหญ่ไอทีเหล่านี้ จะมีตัวเลขการเติบโตมากถึง 2หลัก จากการเข้าไปควบคุมพื้นที่ทางธุรกิจได้อย่างมากมาย ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นและดึงดูดองค์กรต่าง ๆ ให้เข้ามาใช้บริการ และยิ่งทำให้พวกเขาได้รับส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
-
ผู้บริโภคยังละเลย Cyber Security
แม้จะเกิดบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกี่ยวกับการละเมิดความปลอดภัยแลข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล แต่จนถึงปี 2021 ผู้บริโภคทั่วไปก็จะยังคงละเลยปัญหา Cyber Security และมีการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ต่อไป เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีข้อดีมากกว่าจะต้องมาคำนึงถึงข้อเสีย ทำให้แทบจะไม่มีความตื่นตัวที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวเลย
ที่มา: Gartner