หากให้มีการไล่เรียงหัวข้อสนทนาที่มักถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมเวลานี้ แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า หนึ่งในหัวข้อดังกล่าวจะต้องมีประเด็นเรื่อง “เอไอ” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence: AI) รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน
นั่นเป็นเพราะปัจจุบันทุกคนต่างมองว่า ในอนาคต “เอไอ” จะเป็นเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าโลกของเราใบนี้ชนิดพลิกจาก “หน้ามือ” เป็น “หลังมือ” ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านบวกและด้านลบ
โดยเฉพาะประเด็นการเข้ามาทำงาน “แทนที่” มนุษย์ในหลายอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ในสาขาอาชีพ “สื่อสารมวลชน” ที่มีการคาดการณ์ว่า ภายในอนาคตอีกไม่ไกล “เอไอ” จะเข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
โดยในงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์วารสารศาสตร์” ที่องค์กรวิชาชีพสื่อนำโดย สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี “เอไอ” ได้เข้าร่วมบรรยายพิเศษ และได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
โดย ดร.ชัย บอกว่า ในอนาคต “เอไอ” จะมีบทบาทอย่างมากต่อการทำข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งจากการสำรวจในต่างประเทศพบว่า ปัจจุบันองค์กรสื่อ 59% เริ่มนำ “เอไอ” มาประยุกต์ใช้ในการเลือกเนื้อหาข่าว แนะนำประเด็นข่าว และแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อสื่อมวลชนจะได้ไม่จมกับข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลในแต่ละวัน รวมถึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการทำสื่อทุกกระบวนการ
แม้ก่อนหน้านี้จะมีการมองว่า “เอไอ” ทำงานศิลปะไม่ได้ หรือทำได้ยาก แต่ปัจจุบันจะเริ่มเห็นการพัฒนา “เอไอ” ให้สามารถทำงานศิลปะได้มากขึ้น รวมทั้งเริ่มมีการออกแบบการพัฒนา “เอไอ” ให้สามารถเขียนข่าวตามสไตล์เฉพาะตัวของบุคคล ด้วยการเรียนรู้จากสำนวนของคนเขียน ขณะที่ในประเทศอังกฤษมีการใช้ “เอไอ” เปลี่ยนข่าวให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ในการนำเสนอ ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่นสามารถใช้ “เอไอ” เขียนนวนิยายสั้น จนเกือบชนะรางวัล Literary Prize มาแล้ว
“ในวงการข่าวต่างประเทศ เอไอถูกนำมาใช้เยอะแล้ว สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปี เอไอจะเริ่มถูกนำมาใช้ในกระบวนการทำข่าว เช่น การรวบรวมข่าว ประมวลและกระจายข้อมูล นอกจากนี้ยังมีการคาดกันว่า ภายในปี ค.ศ.2024 เอไอจะสามารถเขียนเรียงความเองได้ในระดับเด็กมัธยม และอีก 10 ปีข้างหน้า จะสามารถแต่งเพลงจนติดท็อปชาร์ตได้ ขณะที่ภายในปี ค.ศ.2049 จะถูกพัฒนาไปจนถึงสามารถเขียนข่าวเองได้ และคาดว่า ในอีก 40 ปี เอไอจะสามารถทำวิจัยได้ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ดร.ชัย ได้ย้ำในตอนท้ายว่า แม้ “เอไอ” จะถูกพัฒนาความสามารถขึ้นมาอย่างมากมาย แต่เอไอก็เหมือนมนุษย์ที่ผิดพลาดได้เสมอ และเอไอก็ไม่ได้มีเฉพาะด้านบวกอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเราเองก็ไม่อาจทราบว่า ข่าวที่เอไอเขียนเป็นการลอกใครมา หรือเอไอจะมีความตระหนักถึงผลกระทบจากสิ่งที่เขียนหรือไม่
ดังนั้นยังคงมีความจำเป็นที่ “สื่อ” หรือ “นักข่าว” ต้องเป็นผู้ช่วยควบคุมเอไอ โดยเฉพาะการใช้ “จริยธรรม” นำเอไอ เช่นเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถของ “เอไอ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น