หากพูดถึงความยั่งยืน ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นกรอบการพัฒนาระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดขึ้นในปีพ.ศ. 2558 SDGs ประกอบด้วย 17 เป้าหมายหลัก ครอบคลุมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
SDGs มีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าให้บรรลุภายในปีพ.ศ. 2573 การดำเนินการตาม SDGs ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
การเงินเพื่อความยั่งยืนและ ESG
เพื่อให้ SDGs สามารถเกิดขึ้นได้จึงนำมาสู่การพัฒนาแนวคิด “การเงินเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainable Finance ซึ่งนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลขององค์กร (Environmental, Social, and Governance: ESG) มาพิจารณาในการตัดสินใจลงทุนและการดำเนินธุรกิจ
ESG ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก:
- Environmental (E): การดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ
- Social (S): ความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การดูแลพนักงาน สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในการทำงาน
- Governance (G): การกำกับดูแลกิจการที่ดี เช่น การมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ การต่อต้านคอร์รัปชัน
ESG กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินการดำเนินงานของธุรกิจ โดยนักลงทุนและสถาบันการเงินใช้ข้อมูล ESG ในการตัดสินใจลงทุนและให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
การขับเคลื่อน ESG ในภาคธุรกิจ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะสังเกตว่าองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกได้เริ่มให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุผลหลายประการ:
- การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค: ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเริ่มยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ: คนรุ่นใหม่มักเลือกทำงานกับองค์กรที่มีค่านิยมสอดคล้องกับตนเอง การมีนโยบาย ESG ที่ชัดเจน จะช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ
- การสร้างนวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจ: การมุ่งเน้น ESG จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในอนาคต เช่น เทคโนโลยีสะอาด หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน: การดำเนินงานตามแนวทาง ESG อาจนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนในระยะยาว
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลงทุน: นักลงทุนสถาบันและกองทุนขนาดใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี
- การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน: บริษัทที่เป็นผู้นำด้าน ESG มักได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีโอกาสในการกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรม
- กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน: หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
Climate Change: หัวใจสำคัญของ ESG และ SDGs
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในใจกลางของทั้ง ESG และ SDGs เนื่องจากผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระดับโลก การแก้ไขปัญหา Climate Change จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Economy) ซึ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย
จากการที่องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกปรับตัวสู่แนวทาง ESG และพัฒนา Low-carbon Value Chain ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ SMEs ดังนี้:
- การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน: บริษัทขนาดใหญ่อาจกำหนดเกณฑ์ด้าน ESG สำหรับซัพพลายเออร์ ทำให้ SMEs ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานต้องปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเช่นกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
- การแข่งขันในตลาดโลก: ลูกค้าต่างประเทศอาจเลือกคู่ค้าที่มีการดำเนินงานตามแนวทาง ESG มากขึ้น ทำให้ SMEs ไทยที่ไม่ปรับตัวอาจเสียเปรียบในการแข่งขันและอาจะถูกทดแทนด้วยสินค้าประเภทเดียวกันที่มีการปล่อยคาร์บอนที่ต่ำกว่า
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุน: สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศเริ่มใช้เกณฑ์ ESG ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ทำให้ SMEs ที่ไม่มีการดำเนินงานตามแนวทาง ESG อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น
- ต้นทุนและการปรับกระบวนการผลิต: การปรับเปลี่ยนสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจเพิ่มต้นทุนในระยะสั้น แต่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว
- โอกาสทางธุรกิจใหม่: การพัฒนา Low-carbon Value Chain อาจสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับ SMEs ที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การปรับตัวเข้าสู่แนวทาง ESG อาจจะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ในช่วงแรก แต่ถ้าหากเริ่มศึกษาถึงผลกระทบและวางแผนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต รวมถึงการนำเทคโนโลยีสะอาดรวมถึงพลังงานทดแทนมาใช้ ก็จะสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและการเติบโตในระยะยาวอีกด้วย