parallax background

CBAM 101 – มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรหมแดน EU ที่ควรรู้

August 27, 2024
  • CBAM คือกลไกปรับราคาคาร์บอนชายแดนของสหภาพยุโรป มีเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมด้านต้นทุนคาร์บอนและกระตุ้นการลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
  • ผู้นำเข้าสินค้ามายัง EU จะต้องรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์และจ่ายภาษีคาร์บอน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะโซนเอเชียต้องปรับตัวครั้งใหญ่
  • CBAM กำลังจะทำให้เกิดมาตรการคล้ายคลึงกันในประเทศอื่นๆ

ความเป็นมาและจุดประสงค์ของ CBAM

CBAM หรือชื่อเต็มคือ Carbon Border Adjustment Mechanism เป็นมาตรการการจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรหมแดนที่ EU หรือสหภาพยุโรปริเริ่มขึ้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตใน EU และผู้ผลิตจากประเทศที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดน้อยกว่า

มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผน “Fit for 55” ของ EU ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 1990 โดย CBAM มีวัตถุประสงค์หลักดังนี้:

  1. ป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน หรือ Carbon Leakage: โดยลดความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนปรนกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริง
  2. สร้างแรงจูงใจในระดับสากล: กระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ พัฒนานโยบายด้านสภาพภูมิอากาศให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
  3. รักษาความสามารถในการแข่งขัน: ปกป้องอุตสาหกรรมใน EU จากการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการ CBAM

เมื่อ CBAM มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2026 ผลกระทบแรกที่จะเห็นได้ชัดคือการเก็บภาษีสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ได้แก่

  • เหล็ก
  • อลูมิเนียม
  • ซีเมนต์
  • ปุ๋ย
  • พลังงานไฟฟ้า
  • ไฮโดรเจน

โดยสามารถตรวจสอบ CN Code หรือ HS Code ว่าสินค้าใดที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของ CBAM ได้จากเว็บไซต์ของ EU

ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในกลุ่ม CBAM จะต้องรายงานปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินค้าที่นำเข้ามายัง EU หากไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยัง EU จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจและมีความสามารถในการวัดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

ผลที่ตามมาคือการปรับตัวครั้งใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม เพราะคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะกลายเป็นต้นทุนที่สำคัญของสินค้า ผู้ผลิตจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนจากการปล่อยคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรมใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยจะเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ตนเองอย่างรวดเร็ว หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจเกิดความเสี่ยงในการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และอาจถูกทดแทนด้วยสินค้าประเภทเดียวกันที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า

CBAM เป็นแค่จุดเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการไทย

หลังจากที่ EU ได้ประกาศและบังคับใช้ CBAM ในระยะแรกไป ทำให้หลายๆประเทศเริ่มพัฒนามาตราการ CBAM ของตนเองขึ้นเพื่อรักษาดุลการค้าของตน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา (Clean Competition Act, CCA) จีน เกาหลีใต้ และอีกหลายๆ ประเทศ

แล้วเมื่อไม่นานมานี้ EU ได้ประกาศมาตราการ EUDR ที่จะแบนสินค้าที่เข้าข่ายตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป นอกจากนี้ประเทศไทยเองก็กำลังจะมี พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเร็วๆนี้เพื่อนำไปสู่การใช้มาตรการการแลกเปลี่ยนสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading System, ETS) หรือการเก็บภาษีคาร์บอน