รุ่งหรือร่วง? เมื่อต้องพูดถึงอนาคตของอุปกรณ์และบริการสั่งงานด้วยเสียง (Voice Assistants)
คำตอบที่ให้ได้ ณ เวลานี้ ก็คงต้องบอกได้คำเดียวว่า “รุ่ง”
จากการเปิดเผยผลงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของ Adobe Analytics ซึ่งทำการสำรวจผู้บริโภคมากกว่า 1,000 รายในสหรัฐ พบว่า กิจกรรมการใช้งานด้วยเสียงที่พบมากที่สุด คือ การขอเพลง 70% รองลงมา ได้แก่ การพยากรณ์อากาศ 64%, การถามคำถามสนุกๆ 53%, การค้นหาออนไลน์ 47%, การตรวจสอบข่าว 46%, การวิจัยขั้นพื้นฐาน/ยืนยันข้อมูล 35% และสอบถามเส้นทาง 34%
นอกจากนี้ยังค้นพบกิจกรรมด้านการใช้เสียงที่ใหม่ๆ เช่น ใช้เสียงพูดในการโทรออก 36%, การออกคำสั่งสมาร์ทโฮม 31%, การสั่งซื้อสินค้า 30%, การจัดส่งอาหาร 17% และสำหรับการจองเที่ยวบิน-โรงแรม 16%
“แม้แนวโน้มของเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะ‘มาแล้วไป’แต่สำหรับเทคโนโลยีเสียง เราคิดว่ามันยังอยู่ที่นี่ต่อไป” Colin Morris ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ของ Adobe Analytics ให้ความเห็นถึงผลการสำรวจดังกล่าว พร้อมกับชี้ว่า “ผู้บริโภคยังคงใช้เสียงเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่ออุปกรณ์และอินเตอร์เน็ตของตัวเอง และเป็นแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าระบบการประมวลผลในอนาคต”
Morris บอกว่า การเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน และลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speaker) เป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดการใช้บริการที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งด้วยเสียง โดยผู้บริโภค 32% รายงานว่า พวกเขาเป็นเจ้าของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและลำโพงอัจฉริยะในช่วงเดือนสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลข 28% ที่สำรวจพบเมื่อเดือนมกราคมปีเดียวกัน ถือว่า เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร็วมากในช่วงเวลาไม่กี่เดือน
การสำรวจยังชี้ว่า กลุ่มผู้บริโภคมีการใช้บริการ Voice assistants เพิ่มมากขึ้น โดย 71% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนและลำโพงอัจฉริยะระบุว่า พวกเขามีการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้เป็นประจำทุกวัน ขณะที่ 44% ระบุว่า มีการใช้งานหลายครั้งต่อวัน และมีเพียง 8% เท่านั้นที่บอกว่าแทบไม่เคยใช้งานเลย
Morris ย้ำว่า แม้เวลานี้เรายังอาจอยู่ในช่วงแรก ๆ ของการใช้เทคโนโลยีเรื่องเสียง และคนส่วนใหญ่ยังไม่มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์อย่างลำโพงอัจฉริยะมากนัก แต่ก็ต้องมองว่าอุปกรณ์เหล่านี้สามารถกลายเป็นผู้ช่วยของผู้บริโภคในขั้นตอนแรกของกระบวนการช็อปปิ้ง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งหรือราว 47% ของเจ้าของสมาร์ทโฟนและลำโพงอัจฉริยะ ใช้อุปกรณ์ของตัวเองในการค้นหาและศึกษาข้อมูลของสินค้าต่าง ๆ ขณะที่ 43% ระบุว่า พวกเขาใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการสร้าง Shopping lists และ 32% บอกว่าเขาใช้เพื่อเปรียบเทียบราคา
นอกจากนี้ สิ่งที่นักการตลาดควรต้องทราบ คือ เวลานี้ ความสนใจด้านเสียงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 45% ของผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของลำโพงอัจฉริยะเพิ่มขึ้นอีก 1เครื่องสำหรับตัวเอง ขณะที่ 23%ไม่ได้บอกว่าเขามีการวางแผนในเรื่องนี้หรือไม่ และมี 9%ที่บอกว่าพวกเขาวางแผนที่จะซื้อให้คนอื่น
ผลสำรวจที่ออกมาดังกล่าว บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงยังคงเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตและมาแรงในท่ามกลางกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังมองหาความแตกต่าง และการใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและลำโพงอัจฉริยะได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
นี่จึงเป็นโอกาสอีกครั้งของแบรนด์ ที่จะพัฒนาช่องทางการแบ่งปันประสบการณ์กับผู้บริโภคให้เกิดความราบรื่นและไร้รอยต่อมากขึ้น
ที่มา: cmo.com