parallax background

‘ปริญญา’มาทีหลัง?? อีกไม่กี่ปี AI จะเปลี่ยนโฉมหน้า ‘งาน’ ไปแบบสิ้นเชิง

ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า AI จะเปลี่ยนโฉมหน้า “งาน” ชนิดพลิกฝ่ามือ

นี่คือคำทำนายจาก Ginni Rometty ซีอีโอหญิงเหล็กแห่ง IBM ระหว่างขึ้นเวทีกล่าวในงาน CNBC’s At Work Talent & HR: Building the Workforce of the Future Conference ซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์ CNBC ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนเมษายน 2019 ที่ผ่านมา

เธอบอกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ในขณะนี้ กำลังกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายและโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา ซึ่งเวลานี้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงมีการผสานโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริงเข้าด้วยกันมากขึ้น ซึ่งข้อมูลของ World Economic Forum ชี้ว่าใน 10 ปีข้างหน้า มูลค่า Digital Transformation ในอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนและทั่วโลก จะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบชนิด“พลิกฝ่ามือ”ของตลาดแรงงานในช่วง 5-10 ปีนับจากนี้อันเป็นผลมาจากการนำ AI และ Data analytics มาใช้งานของบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

“AI จะเปลี่ยนโฉมหน้าของงานแบบ 100% ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า” ซีอีโอของ IBM กล่าวและว่า ในขณะที่งานบางส่วนจะหายไป แต่งานส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่นั้นต้องการคนที่สามารถทำงานร่วมกับ AI และ Analytics ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ต้องมีการฝึกอบรมทักษะต่อคนทำงานในวงกว้าง แต่ปัจจุบันยังคงเกิดปัญหาช่องว่างเกี่ยวกับทักษะในเรื่อง AI จึงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไข

เธอย้ำด้วยว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ภาคเทคโนโลยีมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจีดีพี และเป็นภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุด แต่กลับมีแรงงานมีฝีมือไม่เพียงพอที่จะเข้ามาเติมตำแหน่งงานไฮเทคที่ว่างกว่า 5 แสนตำแหน่งได้

โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คือ ระบบการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ยังไม่มีความตื่นตัวในการปรับหลักสูตรเพื่อเจาะลึกลงไปในศาสตร์เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลและ Machine Learning ทำให้ไม่สามารถผลิตแรงงานป้อนตลาดได้อย่างเพียงพอ

ส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้ บริษัทต่าง ๆ จะตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือ ต้องกระเสือกกระสนในการเสาะหาคนมาเติมให้สายงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล วิศวกรรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น บริษัททุกแห่งต้องปรับกระบวนทัศน์ใน 3 สิ่งเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย

  • การฝึกอบรมทักษะให้พนักงาน
  • การจ้างงานกับผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัย
  • ต้องคิดใหม่ในการพิจารณาผู้ที่มาสมัครงานว่า เขามีจะความเหมาะสมกับบทบาทของงานอย่างไร

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว IBM ได้ลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการเกี่ยวกับการฝึกอบรมพนักงานที่เรียกว่า New Collar” หรือตำแหน่งงานที่ไม่ต้องมีปริญญาแต่มีทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งเบื้องต้นมีทั้งหมด 500 คน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาจนมีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เช่น นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ไปจนถึงการเป็นนักวิเคราะห์ไซเบอร์

โดยการฝึกอบรมแนวใหม่ดังกล่าว จะถูกจำลองเป็นส่วนใหญ่ในโปรแกรมฝึกงาน 15 สาขาที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น วิศวกรรมซอฟต์แวร์, Data science and analytics, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, การบริหารระบบเมนเฟรม, การออกแบบระบบสร้างสรรค์และการจัดการโปรแกรม

นอกจากนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา IBM ยังร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีผู้บริโภค (Consumer Technology Association) เปิดตัวโครงการ CTA Apprenticeship Coalition เพื่อขับเคลื่อนการฝึกอบรมแนวใหม่ใน 20 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายคือการวางเส้นทางให้กับงานด้านเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องทักษะมากกว่าระดับการศึกษา และไม่จำเป็นต้องมีปริญญาตรีเหมือนการจ้างงานในแบบดั้งเดิม พวกเขายังเสนอโอกาสในการสร้างทักษะตามความต้องการโดยไม่ต้องใช้หนี้ของนักเรียน

โครงการนี้ นอกจาก IBM ยังมีบริษัทชั้นนำของอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตร เช่น CanonFord, SprintToyota และ Walmart เป็นต้น

ในตลาดแรงงานที่คับแคบ และการไล่ล่าตัวผู้มีความสามารถมาร่วมงานกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นในขณะนี้ Rometty แนะนำว่า  นายจ้างในธุรกิจทุกขนาดต้องเปลี่ยนวิธีคิดสำหรับการวางโมเดลของงาน HR โดยนำ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคล มาปรับแต่งวิธีการฝึกอบรม ส่งเสริม และดึงดูดพนักงาน รวมทั้งย้ายพวกเขาออกไปจากศูนย์กลางความเป็นเลิศไปยัง Solution Centers เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

“ในโลกทุกวันนี้ บริษัทต้องมีความคล่องตัว และตระหนักถึงพนักงานของพวกเขาว่า เป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ในเชิงกลยุทธ์” Rometty กล่าวสรุป