parallax background

Facebook #10yearchallenge ‘ความสุขบนความเสี่ยง’ ถูกฉกข้อมูลส่วนบุคคล

January 18, 2019
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนคงได้สนุกกับการร่วม Facebook #10yearchallenge ที่ระบาดไปทั่วโซเชียลมีเดียทั้งใน Facebook, Instagram และ Twitterโดยมีการขุดรูปตัวเองเมื่อ 10 ปีก่อน มาวางเทียบกับรูปในปัจจุบัน ซึ่งหลายภาพน่าจะสามารถเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคนที่เข้ามาพบเห็นได้อยู่ไม่น้อย

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียหัวเราะของในครั้งนี้ มันอาจจะจบลงด้วยการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ของพวกเรา

หรือถ้าจะให้พูดกันชัดๆ มากขึ้น ก็คือ เราอาจกำลังถูกหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไปนั่นเอง!

 


 

  • “10Year Challenge” ความสุขบนความเสี่ยง

ทั้งนี้ภายหลังจากการปล่อย Challenge ดังกล่าวออกมา ได้เกิดการตั้งคำถามถึงประเด็น
ดังกล่าวอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ต่างประเทศว่า Challenge นี้ มีเบื้องหลังหรือกำลังก่อให้เกิดความเสี่ยงการฉกฉวยข้อมูล “อัตลักษณ์” ของบุคคล เพื่อนำไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่

เช่น การนำไปใช้การพัฒนาอัลกอริทึม AI สำหรับจดจำใบหน้าที่มีความเชื่อมโยงกับอายุ รวมถึงการทำนายผลลัพธ์ใบหน้าของบุคคลในอนาคต

.. หลายคนอาจจะแย้งว่า “คิดมากไปหรือเปล่า?” ..

เพราะปกติข้อมูลรูปภาพโปรไฟล์พวกนี้ก็มีอยู่อย่างเกลื่อนกลาดในเฟซบุ๊กจนแทบจะกลายเป็น “ข้อมูลขยะ” ที่แทบจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้อยู่แล้ว 

คำตอบ คือ ใช่.. แต่ไม่ทั้งหมด

จริงอยู่ว่า ถ้าอยากจะขโมยข้อมูลภาพในลักษณะดังกล่าว คนที่อยากจะทำก็สามารถทำได้ทันที เช่น การเข้าไปขุดเอารูปในโปรไฟล์ของเราออกไป แต่อย่างน้อยจะติดปัญหาอยู่ เช่น ปริมาณรูปที่ต้องเข้าไปขุดในแต่ละคนจะมีเป็นจำนวนมาก และแต่ละรูปก็ไม่ได้กำกับวันเวลาที่แน่นอนเอาไว้ เพราะอย่างที่เราทราบดีว่า แต่ละภาพภาพที่เราโพสต์ขึ้นไป ไม่ได้เป็นภาพที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลา ดังนั้นการจะระบุว่าภาพไหนถ่ายขึ้นเมื่อไร จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการลงทุน ลงแรง และเสียเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องค่อนข้างมาก

บางคนอาจจะบอกว่า สามารถตรวจสอบได้ไม่ยากจากข้อมูล EXIF เพื่อดูว่าภาพนั้นถ่าย
จากไหน เมื่อไร ด้วยกล้องอะไร แต่จริง ๆ แล้วก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะวันที่โพสต์ภาพกับวันที่ถ่ายภาพไม่ตรงกัน ภาพอาจถูกสแกนหรือแปลงมาจากแหล่งอื่น และบางแพลตฟอร์มสำหรับข้อมูล EXIF ก็ยังมีกรอบเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จู่ ๆ จะมีการขุดรูปของใครคนใดคนหนึ่งขึ้นมา และชี้ชัดข้อมูลที่อยู่เบื้องหลังภาพได้ตรงกับข้อเท็จจริง

ต่างจากการกิจกรรมใน Challenge ที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวของผู้โพสต์ได้ประกาศออกมาอย่างโจ่งแจ้งถึงช่วงเวลาที่แท้จริงของภาพใบหน้าเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาและในปัจจุบันของตัวเอง

 


 

  • ข้อมูลอัตลักษณ์ถูกฉกไปได้ฟรี ๆ

ลองคิดดูว่า หากมีคนสัก 10%จากจำนวนผู้ใช้งาน Facebook ที่มีอยู่ประมาณ 2 พันล้านคน ก็จะเท่ากับว่า เวลานี้มี “ชุดข้อมูล” ที่สามารถเปรียบเทียบความต่างของใบหน้าของบุคคลนั้น ๆ ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปี กระจายอยู่เต็ม Facebook มากถึง 200 ล้านชุดเลยทีเดียว

ที่สำคัญ ข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาจัด Segmentเช่น เชื้อชาติ ภูมิภาค และช่วงอายุ ไปพร้อม ๆ กันได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นด้วยปริมาณและคุณภาพของข้อมูล จึงแทบจะเรียกได้ว่า Challenge นี้คือ “ขุมทอง” ที่สามารถเข้ามาฉกฉวยหาผลประโยชน์ไปได้แบบฟรี ๆ โดยไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว

มันอาจจะมีบ้างที่บางคนนำภาพที่ไม่ตรงกับความจริงมาโพสต์ แต่นั่นก็คงไม่มากพอที่จะทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้และที่สำคัญ คือ คงไม่เกินฝีมือ Data Scientistที่จะเข้ามาจัดการให้เรียบร้อยได้

 


 

 

  • เขาจะขโมยข้อมูลของเราไปทำไม

ทั้งนี้แม้ว่าในมุมนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีจดจำใบหน้า และการทำนายผลลัพธ์ของใบหน้าในอนาคต อาจเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เช่น ในการติดตามเด็กหาย หรืออาชญากรที่หลบหนีคดี

แต่ถามว่า การพัฒนาเทคโนโลยีในทิศทางดังกล่าว มีความจำเป็นจะต้องใช้ภาพโปรไฟล์ Facebookในปริมาณมหาศาลเช่นนี้หรือไม่ .. คำตอบคือ “ไม่” และไม่จำเป็น..เพราะยังมีวิธี “บนดิน” มากมายที่ผู้พัฒนาAI หรือซอฟต์แวร์ในเรื่องนี้จะสามารถทำได้อย่างเปิดเผย

ที่สำคัญ โดยหลักการของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากจะมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อนำข้อมูลไปใช้งานก็จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลรับทราบก่อนถึงวัตถุประสงค์การจัดเก็บและนำไปใช้งาน

ดังนั้นจึงมาถึงคำถามว่า แล้วการปล่อยยข้อมูลภาพของเราดังเช่นใน Challengeครั้งนี้ จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยง “การละเมิดข้อมูล”เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณ์ใดได้อีก?

แน่นอน ข้อสงสัยคงหนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น การใช้ประโยชน์ในการกำหนดโฆษณาตามเป้าหมายในผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น ในอุตสาหกรรมความงาม สุขภาพ หรือประกันภัย เพื่อประเมินหรือโน้มน้าวพฤติกรรมผู้บริโภค

ไม่ใช่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เคยเกิดกรณีคล้ายคลึงกัน คือ การเล่นเกมทาง Social Media ที่ถูกออกแบบมาโดยมีเจตนาแอบแฝงเพื่อดึงและรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบหลายครั้ง เช่น กรณี Cambridge Analyticaอันอื้อฉาว ที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กถูกลอบดึงข้อมูลไปหาผลประโยชน์ทางการเมืองกว่า80 ล้านคน โดยมีการโน้มน้าวพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงจน “โดนัลด์ ทรัมป์”สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี2016 ที่ผ่านมา

ดังนั้นไม่ว่าChallenge นี้จะเกิดขึ้นด้วยเจตนาสนุกหรือด้วยวัตถุประสงค์ใด สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องพึงคิดให้มากขึ้นถึงอันตรายที่ตามมาจากการส่งข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเราขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์

ที่ผ่านมา เราพากันเรียกร้องให้ธุรกิจปฏิบัติต่อข้อมูลของเราด้วยความเคารพ ดังนั้นเราเองก็ต้องปฏิบัติต่อข้อมูลของเราด้วยความเคารพ เช่นกัน

 


ที่มา :

– FACEBOOK’S ’10 YEAR CHALLENGE’ IS JUST A HARMLESS MEME—RIGHT?

– Facebook’s 10-Year Challenge May Be A Data Collection Tool